Main navigation
อากิญจัญญายตนฌาณ
Share:

(๑) อากิญจัญญายตนฌาณ (ฌาณ ๗) คือ หนึ่งใน อรูปฌาณ ๔ (ฌาณมีอรูปเป็นอารมณ์)

(๒) ธรรมในอากิญจัญญายตนฌาน คือ อากิญจัญญายตนฌาน จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ กำหนดได้ตามลำดับบท

(๓) ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร (สิ่งอะไรหน่อยหนึ่งไม่มี) เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง

เธอพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมรู้ชัดว่า แม้อากิญจัญญายตนสมาบัตินี้ อันเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อสร้างขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา ดังนี้

เธอตั้งอยู่ในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะความยินดีเพลิดเพลินในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เธอย่อมเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา

ธรรมอันหนึ่งนี้แล ที่เมื่อภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่จิตที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป ย่อมบรรลุถึงธรรมที่ปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบไว้ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่ยังไม่บรรลุ อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้

(๔) เมื่ออยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการอันประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนะฟุ้งซ่าน

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า อย่าประมาทอากิญจัญญายตนฌาน จงดำรงจิตไว้ในอากิญจัญญายตนฌาน จงกระทำจิตให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้นในอากิญจัญญายตนฌาน จงตั้งจิตไว้ให้มั่นในอากิญจัญญายตนฌาน

(๕) แต่ธรรมคืออากิญจัญญายตนะฌาณนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ในวินัยของพระอริยะ

(๖)  เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยอากิญจัญญายตนฌานบ้าง 

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งอากิญจัญญายตนฌานโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาพาธ เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น 

ครั้นแล้ว เธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมเป็นอุปปาติกะจักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นๆ

(๗)  บุคคลบางคนในโลกนี้ ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดย บริกรรมว่า ไม่มีอะไร

เขาชอบใจฌานนั้น ปรารถนาฌานนั้น และถึงความยินดีด้วยฌานนั้น เขาตั้งอยู่ในฌานนั้น น้อมใจไปในฌานนั้น มากด้วยฌานนั้นอยู่ ไม่เสื่อมจากฌานนั้น เมื่อทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ เทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ มีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ กัป 

ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ และยังประมาณอายุของเทวดาสิ้นไปจนหมดแล้ว ไปสู่นรกก็มี ไปสู่กำเนิดสัตว์ ดิรัจฉานก็มี ไปสู่ปิตติวิสัยก็มี 

ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปจนหมดแล้ว ปรินิพพานในภพนั้นเอง 

อริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้มิได้สดับ มีความแตกต่างกัน มีเหตุเป็นเครื่องทำต่างๆ กัน ในเมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่

(๘) อากิญจัญญาตนสัญญาดับในที่ไหน และใครดับอากิญจัญญายตนสัญญาได้แล้ว

อากิญจัญญายตนสัญญาดับในเนวสัญญาสัญญายตนฌานนี้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ท่านเหล่านั้นดับอากิญจัญญายตนสัญญาได้แล้ว

(๙) อากิญจัญญายตนะเป็นเลิศในบรรดาสัญญา ๔ ประการ 

บรรดาสัญญา ๔ ประการนี้ คือ ปริตตารมณ์ มหัคคตารมณ์ อัปปมาณารมณ์ อากิญจัญญายตนะ อากิญจัญญายตนะที่คนหนึ่งจำได้ว่า หน่อยหนึ่งไม่มี เป็นเลิศ

สัตว์ทั้งหลายผู้มีสัญญาอย่างนี้ มีอยู่ ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่าย แม้ในสัญญานั้น เมื่อหน่ายในสัญญานั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า



อ้างอิง:
(๑) อรูป ๔ อย่าง พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๒๓๕ หน้า ๑๘๐
(๒) อนุปทสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๑๖๒ หน้า ๙๔
(๓) อัฏฐกนาครสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๒ หน้า ๒๐
(๔) โมคคัลลานสังยุตต์ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๕๒๑ หน้า ๒๘๒
(๕) สัลเลขสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๐๓ หน้า ๕๓-๕๔
(๖) ฌาณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๔๐ หน้า ๓๔๔
(๗) อเนญชสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๕๖ หน้า ๒๕๔-๒๕๕
(๘)  วิหารสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๓๗ หน้า ๓๓๔-๓๓๕
(๙) โกศลสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๒๙ หน้า ๕๗

คำต่อไป