Main navigation
อิทธิปาฏิหาริย์
Share:

(๑) ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมาก คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในไปอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

นี้เรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์

(๒) พระตถาคตเข้าถึงพรหมโลกด้วยฤทธิ์ พร้อมทั้งกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ อันสำเร็จแต่ใจ เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ ทั้งไม่เคยมีมา

สมัยใด ตถาคตตั้งกายไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาในกายอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมเบากว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ ควรแก่การงานกว่าปกติ และผุดผ่องกว่าปกติ เปรียบเหมือนก้อนเหล็กที่เผาไฟอยู่วันยังค่ำ ย่อมเบากว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ ควรแก่การงานกว่าปกติ และผุดผ่องกว่าปกติ

สมัยใด ตถาคตตั้งกายลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาในกายอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคต ย่อมลอยจากแผ่นดินขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย ตถาคตนั้นย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายคน คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในไปอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

เปรียบเหมือนปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย ซึ่งเป็นเชื้อธาตุที่เบา ย่อมลอยจากแผ่นดินขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย 

 

อ้างอิง
(๑)  สังคารวสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๐๐ หน้า ๑๖๓-๑๖๔
(๒)  อโยคุฬสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๒๐๘-๑๒๐๔ หน้า ๒๙๓-๒๙๔

คำต่อไป