Main navigation
อายตนะ ๖
Share:

(๑) อายตนะ ๖ คืออายตนะภายในหรือรูปภายในของสฬายตนะ อันได้แก่ ๑. จักษุ (ตา) ๒. โสต (หู)  ๓. ฆานะ (จมูก) ๔. ชิวหา (ลิ้น) ๕. กาย ๖. มนะ (ใจ)

เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งอายตนะ ๖ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ความดับ แห่งอายตนะ ๖ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอายตนะ ๖ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ

ก็อายตนะ ๖ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ความดับอายตนะ ๖ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอายตนะ ๖ เป็นไฉน

อายตนะ ๖ ได้แก่ อายตนะ ๖ เหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ย่อมมี เพราะนามรูปเป็นเหตุให้เกิด ความดับอายตนะ ๖ ย่อมมี เพราะนามรูปดับ

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอายตนะ ๖

เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งอายตนะ ๖ เหตุเกิดอายตนะ ๖ ความดับอายตนะ ๖ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอายตนะ ๖ อย่างนี้ เมื่อนั้นท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันเทียว

แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้

(๒)​ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน

เมื่ออินทรีย์ ๕ เหล่านี้ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน มีใจเป็นที่อาศัย ใจย่อมรับรู้วิสัยอันเป็นโคจรแห่งอินทรีย์เหล่านั้น

อินทรีย์ ๕ นี้ อาศัยอายุ (ชีวิตินทรีย์) ตั้งอยู่

(๓) ความดับแห่งอายตนะ ๖

-  จักษุดับ ณ ที่ใด รูปสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น
-  หูดับ ณ ที่ใด สัททสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น
-  จมูกดับ ณ ที่ใด คันธสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น
-  ลิ้นดับไป ณ ที่ใด รสสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น
-  กายดับ ณ ที่ใด โผฏฐัพพสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น
-  ใจดับ ณ ที่ใด ธรรมสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น

อายตนะภายนอกและอายตนะภายใน

(๔) ส่วนประกอบแห่งวิญญาณเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกมากระทบกัน

หากจักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย มนะ (อายตนะภายใน) ซึ่งเป็นรูปภายในมีอยู่ และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (อายตนะภายนอก) ทั้งหลายที่อยู่ภายนอกไม่มาสู่อายตนะภายในนั้น การกำหนดรู้ที่เกิดจากอายตนะภายในและภายนอกเมื่อมาเจอกัน นั้นก็ไม่มี ส่วนประกอบแห่งวิญญาณที่เกิดจากอายตนะภายในและภายนอกกระทบกันก็ยังมีไม่ได้

หากมีอายตนะภายในและมีอายตนะภายนอกเข้ามาสู่อายตนะภายใน แต่ไม่มีการกำหนดรู้เมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกมาเจอกัน  ส่วนประกอบแห่งวิญญาณที่เกิดจากอายตนะภายในและภายนอกกระทบกันก็ยังมีไม่ได้

เมื่อมีอายตนะภายใน และมีอายตนะภายนอกเข้ามาสู่อายตนะภายใน และมีการกำหนดรู้เมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกมาเจอกัน  ส่วนประกอบแห่งวิญญาณที่เกิดจากการกระทบกันนั้นจึงมีได้

(๕) ภิกษุย่อมเป็นผู้มีใจชุ่มด้วยกาม เมื่อภิกษุ

- เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก
-  ฟังเสียงด้วยหูแล้ว น้อมใจไปในเสียงอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในเสียงอันไม่น่ารัก
-  ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว น้อมใจไปในกลิ่นอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในกลิ่นอันไม่น่ารัก
-  ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว น้อมใจไปในรสอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในรสอันไม่น่ารัก
-  ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว น้อมใจไปในโผฏฐัพพะอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในโผฏฐัพพะอันไม่น่ารัก
-  รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว น้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก

เป็นผู้ไม่ตั้งกายคตาสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรม

ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้มีใจชุ่มแล้วในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์  อันจะพึงรู้แจ้งด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ       

ถ้าแม้ว่ามารเข้าไปหาภิกษุนั้นผู้มีปรกติ อยู่อย่างนั้นทางจักษุ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มารย่อมได้ช่องได้เหตุ

-  ก็รูปครอบงำภิกษุผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้น ภิกษุไม่ครอบงำรูป
-  เสียงครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำเสียง
-  กลิ่นครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำกลิ่น
-  รสครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำรส
-  โผฏฐัพพะครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำโผฏฐัพพะ
-  ธรรมารมณ์ครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำธรรมารมณ์

ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ถูกรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ครอบงำ ไม่ครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาป  เป็นอกุศล มีความเศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะ ครอบงำแล้ว 

ก็ภิกษุเป็นผู้มีใจไม่ชุ่มด้วยกาม เมื่อภิกษุ

- เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ไม่ขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก
- ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ไม่น้อมใจไปในเสียงอันน่ารัก ไม่ขัดเคืองในเสียงอันไม่น่ารัก
- ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ไม่น้อมใจไปในกลิ่นอันน่ารัก ไม่ขัดเคืองในกลิ่นอันไม่น่ารัก
- ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ไม่น้อมใจไปในรสอันน่ารัก ไม่ขัดเคืองในรสอันไม่น่ารัก
- ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ไม่น้อมใจไปในโผฏฐัพพะอันน่ารัก ไม่ขัดเคืองในโผฏฐัพพะอันไม่น่ารัก
- รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่น้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก ไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก

เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรม

ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มีใจไม่ชุ่มแล้วในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันจะพึงรู้แจ้งด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ้าแม้มารเข้าไปหาภิกษุนั้นผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้นทางจักษุ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ  มารย่อมไม่ได้ช่องไม่ได้เหตุ 

ก็ภิกษุผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้น

-  ครอบงำรูป รูปไม่ครอบงำภิกษุ
-  ภิกษุครอบงำเสียง เสียงไม่ครอบงำภิกษุ
-  ภิกษุครอบงำกลิ่น กลิ่นไม่ครอบงำภิกษุ
-  ภิกษุครอบงำรส รสไม่ครอบงำภิกษุ
-  ภิกษุครอบงำโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะไม่ครอบงำภิกษุ
-  ภิกษุครอบงำธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ไม่ครอบงำภิกษุ

ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันเป็นบาปเป็นอกุศลเหล่านั้น อันมีความเศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป 

(๖) จักษุไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็ไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ แต่ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น

หูไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของเสียง เสียงก็ไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของหู แต่ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและเสียงทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในหูและเสียงนั้น  

จมูกไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกลิ่น กลิ่นก็ไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจมูก แต่ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและกลิ่นทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจมูกและกลิ่นนั้น

ลิ้นไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรส รสก็ไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของลิ้น แต่ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นกับรสทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในลิ้นและรสนั้น 

กายไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะก็ไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกาย แต่ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในกายและโผฏฐัพพะนั้น         

ใจไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็ไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ แต่ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น

พระเนตร พระโสต พระนาสิก พระชิวหา พระกาย และพระมนัสของพระผู้มีพระภาคมีอยู่ พระองค์ก็ทรงเห็นรูปด้วยพระเนตร ทรงฟังเสียงด้วยพระโสต ทรงสูดกลิ่นด้วยพระนาสิก ทรงลิ้มรสด้วยพระชิวหา ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยพระกาย และทรงรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยพระมนัส แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่เลย พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว

 

อ้างอิง:
(๑)  สัมมาทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๒๔ หน้า ๖๙
(๒)  มหาเวทัลลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๕๐๐-๕๐๑ หน้า ๓๘๒-๓๘๓
(๓)  โลกกามคุณสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๑๗๓ หน้า ๑๐๐
(๔)  มหาหัตถิปโทปมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๓๔๖ หน้า ๒๕๒-๒๕๔
(๕)  อวัสสุตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๒๘-๓๓๑ หน้า ๒๐๑-๒๐๔
(๖)  โกฏฐิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๒๙๕-๒๙๘ หน้า ๑๘๓-๑๘๕

คำต่อไป