Main navigation
อาหาร ๔
Share:

(๑) อาหาร ๔ เหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด คือ

๑.  กวฬิงการาหาร หยาบหรือละเอียด
๒.  ผัสสาหาร
๓.  มโนสัญเจตนาหาร
๔.  วิญญาณาหาร

ก็อาหาร ๔ เหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น (สมุทัย)  มีอะไรเป็นกำเนิด (ชาติ)  มีอะไรเป็นแดนเกิด (มหาตัณหาสังขยสูตร)

อาหาร ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด

(๒) ขันธ์ ๕ ย่อมเกิด ย่อมดับเพราะอาหาร

ขันธปัญจกเกิดเพราะอาหาร

ขันธปัญจกนั้นมีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้น

(๓) วิญญาณาหารย่อมมีเพื่อความบังเกิดในภพใหม่ต่อไป

เมื่อวิญญาณาหารนั้นเกิดมีแล้ว จึงมีสฬายตนะ

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ

เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส

(๔) การกำหนดรู้อาหาร ๔

ก็กวฬิงการาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร

เหมือนอย่างว่า ภรรยาสามี ๒ คน ถือเอาเสบียงเดินทางเล็กน้อย แล้วออกเดินไปสู่ทางกันดาร เขาทั้งสองมีบุตรน้อยๆ น่ารักน่าพอใจอยู่คนหนึ่ง เมื่อขณะทั้งสองคนกำลังเดินไปในทางกันดารอยู่ เสบียงเดินทางที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดสิ้นไป แต่ทางกันดารนั้นยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองยังข้ามพ้นไปไม่ได้

เขาทั้งสองคนคิดตกลงกันอย่างนี้ว่า เสบียงเดินทางของเราได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่ทางกันดารนี้ยังเหลืออยู่ เรายังข้ามพ้นไปไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราสองคนมาช่วยกันฆ่าบุตรน้อยๆ คนเดียว ผู้น่ารัก น่าพอใจคนนี้เสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อได้บริโภคเนื้อบุตร จะได้พากันเดินข้ามพ้นทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น ถ้าไม่เช่นนั้นเราทั้งสามคนต้องพากันพินาศหมดแน่

ภรรยาสามีทั้งสองคนนั้นก็ฆ่าบุตรน้อยๆ นั้นเสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็ม และเนื้อย่าง เมื่อบริโภคเนื้อบุตรเสร็จ ก็พากันเดินข้ามทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น เขาทั้งสองคนรับประทานเนื้อบุตรพลาง ค่อนอกพลางรำพันว่า ลูกชายน้อย ๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ลูกชายน้อยๆ

เขามิได้บริโภคเนื้อบุตรที่เป็นอาหารเพื่อความคะนองหรือเพื่อความมัวเมา หรือเพื่อความตบแต่ง หรือเพื่อความประดับประดาร่างกาย เขาพากันรับประทานเนื้อบุตรเป็นอาหารเพียงเพื่อข้ามพ้นทางกันดาร

บุคคลควรเห็นกวฬิงการาหารว่าเปรียบด้วยเนื้อบุตรฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬิงการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณได้แล้ว สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มี

ก็ผัสสาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร

เหมือนอย่างว่า แม่โคนมที่ไม่มีหนังหุ้ม ถ้ายืนพิงฝาอยู่ก็จะถูกพวกตัวสัตว์อาศัยฝาเจาะกิน ถ้า
ยืนพิงต้นไม้อยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ชนิดอาศัยต้นไม้ไชกิน หากลงไปยืนแช่น้ำอยู่ ก็จะถูกพวกสัตว์ที่อาศัยน้ำตอดและกัดกิน ถ้ายืนอาศัยอยู่ในที่ว่าง ก็จะถูกมวลสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะกัดและจิกกิน เป็นอันว่าแม่โคนมตัวนั้นที่ไร้หนังหุ้มจะไปอาศัยอยู่ในสถานที่ใด ๆ ก็ถูกจำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นๆ กัดกินอยู่ร่ำไป
ข้อนี้ฉันใด

เรากล่าวว่าพึงเห็นผัสสาหารฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้แล้ว เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

มโนสัญเจตนาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร

เหมือนอย่างว่า มีหลุมถ่านเพลิงอยู่แห่งหนึ่ง ลึกมากกว่าบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน ครั้งนั้นมีบุรุษคนหนึ่งอยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์เดินมา บุรุษสองคนมีกำลังจับเขาที่แขนข้างละคนคร่าไปสู่หลุมถ่านเพลิง ทันใดนั้นเอง เขามีเจตนาปรารถนาตั้งใจอยากจะให้ไกลจากหลุมถ่านเพลิง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขารู้ว่า ถ้าเขาจักตกหลุมถ่านเพลิงนี้ ก็จักต้องตายหรือถึงทุกข์แทบตาย ข้อนี้ฉันใด

เรากล่าวว่าพึงเห็นมโนสัญเจตนาหาร ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

ก็วิญญาณาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร

เหมือนอย่างว่า พวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้กระทำผิดได้แล้ว แสดงแก่พระราชาว่า ขอเดชะ ด้วยโจรผู้นี้กระทำผิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ลงโทษโจรผู้นี้ตามที่ทรงเห็นสมควรเถิด จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้านี้

เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ช่วยประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้า

ต่อมาเป็นเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นว่า นักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า จงช่วยกันประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน

เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน

ต่อมาเป็นเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอีกอย่างนี้ว่า เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น

เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น

เมื่อเขากำลังถูกประหารด้วยหอกร้อยเล่มตลอดวันอยู่นั้น จะพึงได้เสวยแต่ทุกข์โทมนัสซึ่งมีการประหาร นั้นเป็นเหตุเท่านั้น จะกล่าวไปไยถึงเมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกสามร้อยเล่มเล่า ข้อนี้ฉันใด

เรากล่าวว่า จะพึงเห็นวิญญาณาหารฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้วก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว

เมื่ออริยสาวกมากำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

(๕) อาหาร ๔ เป็นที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬิงการาหารนั้น...

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในผัสสาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในผัสสาหารนั้น...

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในมโนสัญเจตนาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในมโนสัญเจตนาหารนั้น...

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น...

ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป

ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย

ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป

ในที่ใดมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป

ในที่ใดมีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศก มีธุลี (คือราคะ) มีความคับแค้น

เปรียบเหมือนเมื่อมีน้ำย้อม ครั่ง ขมิ้น สีเขียวหรือสีบานเย็น ช่างย้อมหรือช่างเขียนพึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษให้มีอวัยวะน้อยใหญ่ได้ครบถ้วนที่แผ่นหินขาว แผ่นกระดาน ฝาผนัง หรือที่ผืนผ้า ฉันนั้น

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในกวฬิงการาหารนั้น

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีในผัสสาหาร วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในผัสสาหารนั้น...

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีในมโนสัญเจตนาหาร วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในมโนสัญเจตนาหารนั้น...

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น

ในที่ใดวิญญาณไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป

ในที่ใดไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย

ในที่ใดไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป

ในที่ใดไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป

ในที่ใดไม่มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่าไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น

เปรียบเหมือนเรือนยอด (ปราสาท) หรือศาลามีสองยอด หน้าต่างด้านทิศตะวันออก อันบุคคลเปิดไปทางเหนือหรือทางใต้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปแสงสว่างส่องเข้าไปทางหน้าต่าง จะพึงตั้งอยู่ที่ฝาด้านตะวันตก

ถ้าฝาด้านตะวันตกไม่มี แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ที่แผ่นดิน

ถ้าแผ่นดินไม่มี แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ที่น้ำ

ถ้าน้ำไม่มี แสงสว่างนั้นจะไม่ตั้งอยู่เลย ฉันนั้น

 

 

อ้างอิง:
(๑) อาหารสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๒๘-๒๙ หน้า ๑๐
(๒) มหาตัณหาสังยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๔๕ หน้า ๓๓๔-๓๓๕
(๓) ผัคคุนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๓๒ หน้า ๑๑
(๔) ปุตตมังสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๒๔๑-๒๔๔ หน้า ๙๗-๙๙
(๕) อัตถิราคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๒๔๕-๒๔๙ หน้า ๙๙-๑๐๒

 

คำต่อไป