Main navigation
อคติ
Share:

(๑) อคติ มี ๔ ประเภท

ฉันทาคติ - ลำเอียงเพราะรัก
โทสาคติ - ลำเอียงเพราะโกรธ
โมหาคติ - ลำเอียงเพราะเขลา
ภยาคติ - ลำเอียงเพราะกลัว

ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น

ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม ดุจพระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น

(๒) ภัตตุเทสก์ผู้ประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ เหมือนถูกนำไปวางไว้ในนรก

ภัตตุเทสก์ผู้ไม่ประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ เหมือนถูกนำไปวางไว้ในสวรรค์

ชนเหล่าใดไม่สำรวมในกาม ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เคารพในธรรม มีปรกติถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติและภยาคติ บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นหยากเยื่อในบริษัทอันสมณะผู้รู้กล่าวแล้วอย่างนี้

ชนเหล่าใดตั้งอยู่ในธรรม มีปรกติไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ย่อมไม่กระทำกรรมอันลามก เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นสัตบุรุษที่น่าสรรเสริญ ก็แลบุคคลนี้เราเรียกว่าเป็นผู้ผุดผ่องในบริษัท อันสมณะผู้รู้กล่าวแล้วอย่างนี้

(๓) ภิกษุอลัชชีประกอบด้วยอคติ ๔ ย่อมทำลายสงฆ์

ภิกษุผู้มีศีล เป็นที่รักประกอบด้วยองค์ ๔ ย่อมสมานสงฆ์ผู้แตกกันแล้วให้สามัคคี คือ ไม่ถึงฉันทาคติ ๑ ไม่ถึงโทสาคติ ๑ ไม่ถึงโมหาคติ ๑ ไม่ถึงภยาคติ ๑

ภิกษุประกอบด้วยอคติ ๔

ไม่ควรเป็นผู้ถูกถามวินัย
ไม่ควรถามวินัย
ไม่ควรถูกตอบวินัย
ไม่พึงเป็นผู้ตอบวินัย
ไม่พึงให้คำซักถาม
ไม่พึงสนทนาวินัยด้วย

 

อ้างอิง
(๑) อคติสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๙ หน้า ๑๘
(๒) ภัตตุเทสกสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๒๐ หน้า ๑๘-๑๙
(๓) ปริวาร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๘ ข้อที่ ๙๗๕ หน้า ๓๐๖

 

 

คำต่อไป