Main navigation
อุเบกขา
Share:

(๑)  การวางเฉย กิริยาที่วางเฉย ความวางเฉย อุเบกขาเจโตวิมุตติ นี้เรียกว่า อุเบกขา

(๒) บุคคลเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติทุกเมื่อ ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่า ดีกว่าเขา ไม่สำคัญว่าต่ำกว่าเขาในโลก กิเลสอันหนาทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น

คำว่า มีอุเบกขา ในคำว่า บุคคลเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติทุกเมื่อ เป็นผู้ประกอบด้วยอุเบกขามีองค์ ๖ กล่าวคือ 

เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
ได้ยินเสียงด้วยหู
สูดดมกลิ่นด้วยจมูก
ลิ้มรสด้วยลิ้น
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่

เห็นรูปที่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว 
ได้ยินเสียงที่ชอบใจด้วยหู
สูดดมกลิ่นที่ชอบใจด้วยจมูก
ลิ้มรสที่ชอบใจด้วยลิ้น
ถูกต้องโผฏฐัพพะที่ชอบใจด้วยกาย
รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่ชอบใจด้วยใจแล้ว
ย่อมไม่ติดใจ ไม่ยินดี ไม่ให้ราคะเกิด กายของบุคคลนั้น ตั้งอยู่ (ไม่หวั่นไหว) จิตก็ตั้งอยู่ ดำรงดีอยู่ ณ ภายใน พ้นวิเศษดีแล้ว

เห็นรูปที่ไม่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว
ได้ยินเสียงที่ไม่ชอบใจด้วยหู
สูดดมกลิ่นที่ไม่ชอบใจด้วยจมูก
ลิ้มรสที่ไม่ชอบใจด้วยลิ้น
ถูกต้องโผฏฐัพพะที่ไม่ชอบใจด้วยกาย
รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่ไม่ชอบใจด้วยใจแล้ว
ก็ไม่เสียใจ ไม่โกรธ ไม่หดหู่ ไม่พยาบาท กายของบุคคลนั้น ตั้งอยู่ จิตก็ตั้งอยู่ ดำรงดีอยู่ ณ ภายใน พ้นวิเศษดีแล้ว 

เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว 
ได้ยินเสียงด้วยหู
สูดดมกลิ่นด้วยจมูก
ลิ้มรสด้วยลิ้น
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว

กายของบุคคลนั้นตั้งเฉยอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ จิตก็ตั้งเฉย ดำรงดีอยู่ ณ ภายใน พ้นวิเศษดีแล้ว

ย่อมไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ไม่หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่โกรธในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ ไม่เศร้าหมองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง ไม่มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

บุคคลนั้นเป็นแต่เพียงเห็นในรูปที่เห็น ได้ยินในเสียงที่ได้ยิน ทราบในกลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบ เป็นแต่เพียงรู้แจ้งในธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ไม่ติดในรูปที่เห็น ไม่ติดในเสียงที่ได้ยิน ไม่ติดในกลิ่น รส และโผฏฐัพพะที่ทราบ ไม่ติดในธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ไม่มีตัณหา อันตัณหาทิฏฐิไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องในรูปที่เห็น ในเสียงที่ ได้ยิน ในกลิ่น รส และโผฏฐัพพะที่ทราบ ในธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ย่อมมีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ 


(๓) อุเบกขาอิงอามิส
อุเบกขาเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เรียกว่า อุเบกขามีอามิส

อุเบกขาไม่อิงอามิส
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่า อุเบกขาไม่มีอามิส

อุเบกขาไม่มีอามิสยิ่งกว่าอุเบกขาไม่มีอามิส
อุเบกขาเกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้วจาก ราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เรียกว่า อุเบกขาไม่มีอามิสยิ่งกว่าอุเบกขาไม่มีอามิส

(๔) อุเบกขาที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี 
บุคคลพึงทราบอุเบกขาอันใดว่า เมื่อเราเสพอุเบกขานี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม อุเบกขาเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ 

บุคคลพึงทราบอุเบกขาอันใดว่า เมื่อเราเสพอุเบกขานี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น อุเบกขาเห็นปานนี้ ควรเสพ 

ในอุเบกขาทั้ง ๒ นั้น ถ้าอุเบกขาอันใดมีวิตก มีวิจาร อันใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น อุเบกขาที่ไม่วิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า

(๕) อุเบกขาอาศัยเรือน ๖  คือ  
เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ  
เพราะฟังเสียงด้วยโสต
เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ      
เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา
เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย
เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน  
ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้นแก่ปุถุชนคนโง่เขลา  ยังไม่ชนะกิเลส  ยังไม่ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษไม่ได้สดับ  เป็นคนหนาแน่น  
อุเบกขาเช่นนี้ ไม่ล่วงเลยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ไปได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอุเบกขาอาศัยเรือน

      
อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ  ๖  คือ 
บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน  ความคลาย  และความดับของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ทั้งหลาย แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า  รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาย่อมเกิดอุเบกขาขึ้น  

อุเบกขาเช่นนี้นั้น ย่อมล่วงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ไปได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ

(๖) อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ ก็มี อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งก็มี              

ก็อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ คือ
อุเบกขาที่มีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ นี้อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ              

ก็อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ 
อุเบกขาที่อาศัยอากาสานัญจายตนะ อาศัยวิญญาณัญจายตนะ อาศัยอากิญจัญญายตนะ อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะ นี้อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่ง

ในอุเบกขา ๒ อย่าง พวกเธอจงอิงอุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งนั้น แล้วละซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ นั้น ย่อมเป็นอันละอุเบกขา(ที่มีคามเป็นต่างๆ)นี้ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานี้ได้ 

พวกเธออิงความเป็นผู้ ไม่มีตัณหา แล้วละซึ่งอุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งนั้น อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละอุเบกขา(ที่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง)นี้ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานี้ได้

อุเบกขาเป็นหนึ่งในบารมี ๑๐ - อุเบกขาบารมี
(๗) พวกใดนำทุกข์มาให้เรา และพวกใดให้สุขแก่เรา เราเป็นผู้มีจิตเสมอแก่เขาทั้งหมด ไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความโกรธ เราเป็นผู้วางเฉยในสุขและทุกข์ ในยศและความเสื่อมยศ เป็นผู้มีใจเสมอในสิ่งทั้งปวง นี้เป็นอุเบกขาบารมีของเรา

อุเบกขาเป็นหนึ่งในโพชฌงค์ ๗ (องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้)
(๘) โพชฌงค์ ๗  คือ สติสัมโพชฌงค์ ๑ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ๑ วิริยสัมโพชฌงค์ ๑ ปีติ สัมโพชฌงค์ ๑ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๑ สมาธิสัมโพชฌงค์ ๑ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๑ (องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ คือ ความวางเฉย)

อุเบกขาเป็นทางเพื่ออยู่ร่วมกับพรหม
(๙) ภิกษุมีใจประกอบด้วยเมตตา ประกอบด้วยกรุณา ... ประกอบด้วย มุทิตา ... ประกอบด้วยอุเบกขา ... นี้แล เป็นทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม

อุเบกขาเป็นข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ
(๑๐) ถ้ากุลบุตรเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน เรากล่าวว่า กุลบุตรนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ

อุเบกขาเป็นหนึ่งในธรรมเพื่ออริยมรรคญาณ
(๑๑) อริยมรรคญาณนั้นมีธรรม คือ ศรัทธากับปัญญาเป็นเอก มีศรัทธาเป็นทูบ มีหิริเป็นงอน มีใจเป็นเชือกชัก มีสติเป็นสารถีผู้ควบคุม รถนี้มีศีลเป็นเครื่องประดับ มีญาณเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ มีอุเบกขากับสมาธิเป็นทูบ ความไม่อยากได้เป็นประทุน

อุเบกขาเป็นหนึ่งในอัปมัญญา ๔
(๑๒) ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ก็เหมือนกัน ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน โดยความเป็นตนในสัตว์ทั้งปวง ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

(๑๓) ก็ภิกษุแผ่อุเบกขาจิตเป็นอย่างไร              
ภิกษุแผ่อุเบกขาจิตไปยังสัตว์ทั้งปวง (เพราะเป็นผู้มีจิตเสมอในสัตว์ทุกหมู่เหล่า กำหนดเอาสัตว์ทั่วทั้งหมดไม่มีส่วนเหลือ) เหมือนบุคคลเห็นบุคคลหนึ่งผู้เป็นที่ชอบใจก็ไม่ใช่ ไม่เป็นที่ชอบใจก็ไม่ใช่ แล้วพึงเป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา ฉะนั้น

อุเบกขาเป็นธรรมประกอบจิตในตติยฌาณ จตุตฌาณ อากาสานัญจายตนสัญญา วิญญาณัญจายตนสัญญา อากิญจัญญายตนสัญญา เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา
(๑๔) ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสในก่อนเสียได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

(๑๕) เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการซึ่งนานัตตสัญญา จึงบรรลุจตุตถฌานอันสหรคตต้วยอากาสานัญจายตนสัญญา สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ จึงบรรลุจตุตถฌานอันสหรคตด้วยวิญญาณัญจายตนสัญญา สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะ จึงบรรลุจตุตถฌานอันสหรคตด้วยอากิญจัญญายตนสัญญา สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะ จึงบรรลุจตุตถฌาน อันสหรคตด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

ไม่ยึดมั่นอุเบกขา ย่อมปรินิพพานได้
(๑๖) ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ย่อมได้อุเบกขาโดยเฉพาะด้วยคิดว่า สิ่งที่ไม่มีก็ไม่พึงมีแก่เรา และจักไม่มีแก่เรา เราจะละสิ่งที่กำลังมีอยู่ และมีมาแล้วนั้นๆ เสีย เธอไม่ยินดี ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจอุเบกขานั้นอยู่ เมื่อเธอไม่ยินดี ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจอุเบกขานั้นอยู่ วิญญาณก็ไม่เป็นอาศัยอุเบกขานั้น และไม่ยึดมั่นอุเบกขานั้น ภิกษุผู้ไม่มีความยึดมั่น ย่อมปรินิพพานได้



อ้างอิง 
(๑) อุเบกขาวิปากฌาน พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๗๕๙ หน้า ๓๔๐
(๒) ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ ข้อที่ ๔๑๓ หน้า ๒๒๓-๒๒๔
(๓) นิรามิสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๕๓-๔๕๕ หน้า ๒๔๙-๒๔๐
(๔) สักกปัญหาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๕๗ หน้า ๒๐๗-๒๐๘
(๕) สฬายตนวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๖๓๙-๖๓๐ หน้า ๓๐๕-๓๐๖
(๖) สฬายตนวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๖๓๒ หน้า ๓๐๖-๓๐๗
(๗) มหาโลมหังสจริยาที่ ๑๕ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๓ ข้อที่ ๓๕ หน้า ๔๐๕
(๘) สังคีติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที ๒๓๔ หน้า ๑๗๙
(๙) เตวิชชสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๘๔ หน้า ๓๘๑
(๑๐) จูฬอัสสปุรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๘๒ หน้า ๓๖๓
(๑๑) พราหมณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๒๔ หน้า ๕
(๑๒) สังคีติสูตร  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๓๒๗ หน้า ๒๒๐-๒๒๑
(๑๓) อุเบกขาอัปปมัญญานิเทศ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๗๔๘-๗๔๙ หน้า ๓๒๕
(๑๔) สัลเลขสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๐๒ หน้า ๕๓
(๑๕) อรูปฌาน ๔ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๑๙๒ หน้า ๘๑-๘๒
(๑๖) อาเนญชสัปปายสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๙๑ หน้า ๖๐




 

คำต่อไป