Main navigation
อาสวักขยญาณ
Share:

(๑)(๒) ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า

นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา 

เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา

เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขาใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้นจะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆบ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำ เขาจะพึงคิดอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น

(๑) นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ ก็สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้ออื่น ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อนี้ ย่อมไม่มี

(๒) ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง

(๓) ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์

(๔) สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด ศาสดานี้ไม่ควรท้วงในโลก  อนึ่ง การท้วงศาสดาเห็นปานนี้ ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ

(๕) ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด บุคคลพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้น และเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้

 

อ้างอิง:
(๑) สามัญญผลสูตร อาสวักขยญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๑๓๘ หน้า ๗๗-๗๘
(๒) สุภสูตร อาสวักขยญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๓๖ หน้า ๓๐๔
(๓) เกวัฏฏสูตร อาสวักขยญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๔๒ หน้า ๓๒๕-๓๒๖
(๔) โลหิจจสูตร อาสวักขยญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๖๓ หน้า ๓๕๕-๓๕๖
(๕)  สันทกสูตร วิชชา ๓ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๓๑๐ หน้า ๒๓๘

คำต่อไป