Main navigation
อวิชชา
Share:

(๑) อวิชชา (สวะ) เป็นไฉน

ความไม่รู้ในทุกข์
ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย
ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ
ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ความไม่รู้ในส่วนอดีต (เบื้องต้น)
ความไม่รู้ในส่วนอนาคต (เบื้องปลาย)
ความไม่รู้ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต (เบื้องต้นและเบื้องปลาย)

ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงเกิดขึ้น

ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาให้ถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา การไม่กระทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา

โอฆะ (ห้วงน้ำ) คืออวิชชา (อวิชโชฆะ) โยคะ (กิเลส) คืออวิชชา (อวิชชาโยคะ) อนุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน) คืออวิชชา (อวิชชานุสัย) ปริยุฏฐาน (กิเลสเครื่องครอบงำจิต) คืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา นิวรณ์คืออวิชชา อวิชชาเป็นเครื่องกลุ้มรุม อวิชชาเป็นข่าย อกุศลมูลคือโมหะ มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า อวิชชาสวะ อวิชชาสังโยชน์

(๒) สัตว์ทั้งหลายอันอวิชชาหุ้มห่อแล้ว เป็นผู้มืดมน ไม่มีจักษุ (ปัญญา)

(๓) หมู่สัตว์ที่ถูกธรรมเครื่องกางกั้นคืออวิชชาปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน

ไม่มีธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้หมู่สัตว์ซึ่งถูกปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดวันและคืนเหมือนถูกโมหะปิดกั้นเลย

ส่วนพระอริยสาวกเหล่าใดละโมหะแล้ว ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว พระอริยสาวกเหล่านั้นย่อมไม่ท่องเที่ยวไปอีก เพราะอวิชชาอันเป็นต้นเหตุ (แห่งสงสาร) ย่อมไม่มีแก่พระอริยสาวกเหล่านั้น


อาหารของอวิชชา

(๔) เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อนแต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชามีข้อนี้เป็นปัจจัยจึงปรากฏ

เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่านิวรณ์ ๕

แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ควรกล่าวว่า ทุจริต ๓

แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การไม่สำรวมอินทรีย์

แม้การไม่สำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่าความไม่มีสติสัมปชัญญะ

แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่าการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรกล่าวว่าความไม่มีศรัทธา

แม้ความไม่มีศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรกล่าวว่า การไม่ฟังสัทธรรม

แม้การไม่ฟังสัทธรรมเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การไม่คบสัปบุรุษ

ด้วยประการดังนี้ การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์

อวิชชามีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้


อวิชชาเป็นประธานในการเข้าถึงอกุศลธรรม

(๕) อวิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาปเป็นของมีมาตามอวิชชานั้น

บุคคลผู้มีอวิชชาไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นผิด
ผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด
ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด
ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด
ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด
ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด
ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด
ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งใจผิด
ผู้มีความตั้งใจผิด ย่อมมีความรู้ผิด
ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด


อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม

(๖) อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป

ความเห็นผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ไม่รู้แจ้ง ประกอบด้วยอวิชชา
ความดำริผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นผิด
เจรจาผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริผิด
การงานผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด
การเลี้ยงชีพผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานผิด
พยายามผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด
ระลึกผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด
ตั้งใจผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด
 

อวิชชาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์

(๗) ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ...เพราะอวิชชานั่นเองดับไปเพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด

อวิชชานั้นเอง เป็นคติของสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงชาติมรณะและสงสารอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นบ่อย ๆ

อวิชชา คือ ความหลงใหญ่นี้ เป็นความเที่ยงอยู่สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายผู้ไปด้วยวิชชาเท่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่

(๘) เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้

เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขาร จึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้


ผู้ตกอยู่ในอวิชชา

(๙) ที่เรียกว่า อวิชชา ๆ ดังนี้ อวิชชาเป็นไฉน และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงจะชื่อว่าตกอยู่ในอวิชชา

ความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์ นี้เรียกว่าอวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมชื่อว่าตกอยู่ในอวิชชา

เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

(๑๐) ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

นี้เรียกว่า อวิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชาด้วยเหตุเพียงเท่านี้

(๑๑) ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งสัญญา

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งสังขาร

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ

นี้เรียกว่าอวิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้

(๑๒) ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้

ไม่รู้ชัดซึ่งรูป
ไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งรูป
ไม่รู้ชัดซึ่งความดับแห่งรูป
ไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป

ไม่รู้ชัดซึ่งเวทนา
ไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งเวทนา
ไม่รู้ชัดซึ่งความดับแห่งเวทนา
ไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนา

ไม่รู้ชัดซึ่งสัญญา
ไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งสัญญา
ไม่รู้ชัดซึ่งความดับแห่งสัญญา
ไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัญญา

ไม่รู้ชัดซึ่งสังขาร
ไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งสังขาร
ไม่รู้ชัดซึ่งความดับแห่งสังขาร
ไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสังขาร

ไม่รู้ชัดซึ่งวิญญาณ
ไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดวิญญาณ
ไม่รู้ชัดซึ่งความดับวิญญาณ
ไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับวิญญาณ.

นี้เรียกว่า อวิชชา และบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้

(๑๓) เมื่อบุคคลตกอยู่ในอวิชชา ถ้าสังขารที่เป็นบุญปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบุญ ถ้าสังขารที่เป็นบาปปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบาป ถ้าสังขารที่เป็นอเนญชาปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงอเนญชาฯ


ผู้ตกอยู่ในอวิชชาย่อมพิจารณาเห็นว่าเป็นตน

(๑๔) ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเมื่อพิจารณาเห็น ย่อมพิจารณาเห็นตนเป็นหลายวิธี สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมพิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง

ปุถุชนไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม

ย่อมตามเห็นรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน ๑

ย่อมตามเห็นตนมีรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ๑

ย่อมตามเห็นรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ในตน ๑

ย่อมตามเห็นตนในรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ  ๑

การตามเห็นด้วยประการดังนี้ เป็นอันผู้นั้นยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็น

เมื่อผู้นั้นยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็น ในกาลนั้นอินทรีย์ ๕ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ ย่อมหยั่งลง

มนะมีอยู่ ธรรมทั้งหลายมีอยู่ อวิชชาธาตุมีอยู่ เมื่อปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว อันความเสวยอารมณ์ซึ่งเกิดจากอวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว เขาย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นว่า

เราเป็นดังนี้บ้าง
นี้เป็นเราดังนี้บ้าง
เราจักเป็นดังนี้บ้าง
จักไม่เป็นดังนี้บ้าง
จักมีรูปดังนี้บ้าง
จักไม่มีรูปดังนี้บ้าง
จักมีสัญญาดังนี้บ้าง
จักไม่มีสัญญาดังนี้บ้าง
จักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ดังนี้บ้าง

ก็อินทรีย์ ๕ ย่อมตั้งอยู่เพราะการตามเห็นนั้นทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น

เพราะความคลายไปแห่งอวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในอินทรีย์เหล่านั้นว่า

เราเป็นดังนี้บ้าง นี้เป็นเราดังนี้บ้าง เราจักเป็นดังนี้บ้าง จักไม่เป็นดังนี้บ้าง จักมีรูปดังนี้บ้าง จักไม่มีรูปดังนี้บ้าง จักมีสัญญาดังนี้บ้าง จักไม่มีสัญญาดังนี้บ้างจักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ดังนี้บ้าง


ละอวิชชาได้ด้วยปัญญา

(๑๕) ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมละอวิชชาได้ ...ปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญ ด้วยประการฉะนี้ เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้จึงชื่อว่า ปัญญาวิมุติ

(๑๖) อวิชชาและภวตัณหา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง

(๑๗) ก็เมื่อภิกษุรู้อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น

ธรรมข้อหนึ่งซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่
ซึ่งจักษุ
ซึ่งรูปทั้งหลาย
ซึ่งจักษุวิญญาณ
ซึ่งจักษุสัมผัส
ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่
ซึ่งโสต
ซึ่งเสียงทั้งหลาย
ซึ่งโสตวิญญาณ
ซึ่งโสตสัมผัส
ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่
ซึ่งฆานะ
ซึ่งกลิ่นทั้งหลาย
ซึ่งฆานวิญญาณ
ซึ่งฆานสัมผัส
ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่
ซึ่งชิวหา
ซึ่งรสทั้งหลาย
ซึ่งชิวหาวิญญาณ
ซึ่งชิวหาสัมผัส
ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่
ซึ่งกาย
ซึ่งโผฏฐัพพะทั้งหลาย
ซึ่งกายวิญญาณ
ซึ่งกายสัมผัส
ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่
ซึ่งมโน
ซึ่งธรรมารมณ์ทั้งหลาย
ซึ่งมโนวิญญาณ
ซึ่งมโนสัมผัส
ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น

(๑๘) ก็เมื่อภิกษุรู้อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงละอวิชชาได้  วิชชาจึงเกิดขึ้น

ธรรมข้อหนึ่งซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น เธอย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง

ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง

ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมเห็นนิมิตทั้งปวงโดยประการอื่น คือ เห็นจักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น

เห็นโสตะ โสตวิญญาณ โสตสัมผัส ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น

เห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัส ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น

เห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัส ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น

เห็นกาย กายวิญญาณ กายสัมผัส ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น

เห็นใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น

เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น

(๑๓) เมื่อภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ในกาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาป ไม่ทำกรรมเป็นอเนญชา เพราะสำรอกอวิชชาเสีย เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น

ภิกษุนั้นถ้าเสวยเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา 

ถ้าเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ก็วางใจเฉยเสวยไป

เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย ก็รู้ชัดว่าเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย

เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต

รู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น เมื่อตายไป สรีรธาตุเท่านั้นเหลืออยู่ในโลกนี้
            

ผู้รู้ชัดอวิชชา เหตุเกิด ความดับ และปฏิปทาให้ถึงความดับอวิชชา ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ

(๑๙) เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับอวิชชา และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอวิชชา แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้

อวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับอวิชชา และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอวิชชา เป็นไฉน

ความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ในความดับทุกข์ ในปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับทุกข์ อันนี้เรียกว่าอวิชชา

เหตุเกิดแห่งอวิชชาย่อมมีเพราะอาสวะเป็นเหตุให้เกิด  ความดับอวิชชาย่อมมีเพราะอาสวะดับ

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอวิชชา 

เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับอวิชชา ทางที่จะให้ถึงความดับอวิชชาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันเทียว แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้

 


 

 
อ้างอิง: 
(๑) อาสวโคจฉกะ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๗๑๒ หน้า ๒๕๐-๒๕๑
     สัญโญชนโคจฉกะ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๑๑๒๘
     อชิตมาณวกปัญหานิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ ข้อที่ ๖๔
     สังคีติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๒๕๘-๒๕๙, ๒๘๕
     อัญญาณกถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๗ ข้อที่ ๔๙๑
(๒) สราคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๖๖
(๓) โมหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๙๒
(๔) อวิชชาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔  ข้อที่ ๖๑
(๕) อวิชชาวิชชาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๑๐๕
(๖) อวิชชาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๒
(๗) ทวยตานุปัสสนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๙๓ หน้า ๓๕๒
(๘) ปฏิจจสมุปบาทมนสิการ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔  ข้อที่ ๑
(๙) อวิชชาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๙/๑๖๙๔/๔๒๕
(๑๐) สมุทยธัมมสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗  ข้อที่ ๓๒๐ หน้า ๑๖๕
(๑๑) โกฏฐิตสูตรที่ ๑ พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๗  ข้อที่ ๓๒๘
     อัสสาทสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗  ข้อที่ ๓๒๔ หน้า ๑๖๗
(๑๒) อวิชชาสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗  ข้อที่ ๓๐๐
(๑๓) ปริวีมังสนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖  ข้อที่ ๑๙๑-๑๙๒ หน้า ๘๑-๘๒
(๑๔) สมนุปัสสนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๔
(๑๕) พาลวรรคที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๒๗๕-๒๗๖
(๑๖) อาคันตุกาคารสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๒๙๒
(๑๗) อวิชชาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘  ข้อที่ ๕๖ 
        อวิชชาสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  ข้อที่ ๙๕
(๑๘) อวิชชาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  ข้อที่ ๙๖
(๑๙) สัมมาทิฏฐิสูตร อวิชชาวาร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒  ข้อที่ ๑๒๘ หน้า ๗๑
 
 

 

 

คำต่อไป