Main navigation
โอรัมภาคิยสังโยชน์
Share:

(๑)  โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อันเป็นสังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ คือ

๑. สักกายทิฏฐิ   [ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน]
๒. วิจิกิจฉา   [ความสงสัย]
๓. สีลัพตปรามาส  [ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยศีลหรือพรต]
๔. กามฉันทะ  [ความพอใจด้วยอำนาจแห่งกาม]
๕. พยาบาท  [ความคิดแก้แค้นผู้อื่น]

(๒) ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ

มีจิตอันสักกายทิฏฐิกลุ้มรุมแล้ว อันสักกายทิฏฐิครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อสักกายทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สักกายทิฏฐินั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์

ปุถุชนนั้นมีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุมแล้ว อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง วิจิกิจฉานั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์

ปุถุชนนั้นมีจิตอันสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมแล้ว อันสีลัพพตปรามาสครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อสีลัพพตปรามาสเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สีลัพพตปรามาสนั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้วชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์

ปุถุชนนั้นมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุมแล้ว อันกามราคะครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อกามราคะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง กามราคะนั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์

ปุถุชนนั้นมีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุมแล้ว อันพยาบาทครอบงำแล้วอยู่ และเมื่อพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง พยาบาทนั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าโอรัมภาคิยสังโยชน์

ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะ เป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะดีแล้ว ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษดีแล้ว

มีจิตอันสักกายทิฏฐิกลุ้มรุมไม่ได้ อันสักกายทิฏฐิครอบงำไม่ได้อยู่ และเมื่อสักกายทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สักกายทิฏฐิพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้

อริยสาวกนั้นมีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุมไม่ได้ อันวิจิกิจฉาครอบงำไม่ได้อยู่ และเมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง วิจิกิจฉาพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้

อริยสาวกนั้นมีจิตอันสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมไม่ได้ อันสีลัพพตปรามาสย่อมครอบงำไม่ได้อยู่ และเมื่อสีลัพพตปรามาสเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สีลัพพตปรามาสพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้

อริยสาวกนั้นมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุมไม่ได้ อันกามราคะครอบงำไม่ได้อยู่ และเมื่อกามราคะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง กามราคะพร้อมทั้งอนุสัยอันอริยสาวกนั้นย่อมละได้

อริยสาวกนั้นมีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุมไม่ได้ อันพยาบาทครอบงำไม่ได้อยู่ และเมื่อพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง พยาบาทพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้

บุคคลจักไม่อาศัยมรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว จักรู้ จักเห็น หรือจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ได้นั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ข้อที่ว่า บุคคลอาศัยมรรคปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว จักรู้ จักเห็น และจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ นั้นได้ เป็นฐานะที่จะมีได้

เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคาน้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้มีกำลังน้อย พึงมาด้วย หวังว่า เราจักว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ดังนี้ เขาจะไม่อาจว่าย ตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด

เมื่อธรรมอันผู้แสดง ๆ อยู่แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เพื่อดับความเห็นว่า กายของตน จิตของผู้นั้นไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่มั่นคง ไม่พ้น ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษผู้มีกำลังน้อยนั้น ฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา น้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้ ครั้งนั้นบุรุษมีกำลัง พึงมาด้วยหวังว่า เราจักว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ ไปให้ถึงโดยสวัสดี ดังนี้ เขาอาจจะว่ายตัดขวางกระแสแห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด

เมื่อธรรมอันผู้แสดง ๆ อยู่แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเพื่อดับความเห็นว่า กายของตน จิตของตน จิตของผู้นั้นแล่นไป
เลื่อมใส มั่นคง พ้น ฉันนั้นเหมือนกันแล บุรุษมีกำลังนั้นฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

มรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเพราะอุปธิวิเวก เพราะละอกุศลธรรมได้ เพราะระงับความคร้านกายได้โดยประการทั้งปวง บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในภายในสมาบัตินั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของมิใช่ตัวตน

เธอย่อมเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น ครั้นเธอเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่า ธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท เป็นที่ดับกิเลส และกองทุกข์ดังนี้

เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมเป็นโอปปาติกะ (พระอนาคามี) จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความยินดี ความเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕

มรรคแม้นี้แล ปฏิปทาแม้นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

อีกประการหนึ่ง ภิกษุ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่...

อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข...

อีกประการหนึ่ง ภิกษุ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในภายในสมาบัตินั้น

โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของมิใช่ตัวตน

เธอย่อมเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น ครั้นเธอเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่า ธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท เป็นที่ดับกิเลส และกองทุกข์ดังนี้

เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมเป็นโอปปาติกะ (พระอนาคามี) จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความยินดี ความเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕

มรรคแม้นี้แล ปฏิปทาแม้นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

ภิกษุ บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา และเพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง

เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในฌานนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของไม่มีตัวตน

เธอให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตเข้าหาธาตุอันเป็นอมตะว่านั้นมีอยู่ นั่นประณีต คือสงบสังขารทั้งปวง สละคืนอุปธิทั้งปวง สิ้นตัณหา ปราศจากราคะ
ดับสนิท นิพพาน

เธอตั้งอยู่ในฌานนั้น ย่อมบรรลุการสิ้นอาสวะ ถ้าไม่บรรลุ จะเป็นโอปปาติกะ (พระอนาคามี) ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ด้วยความเพลิดเพลินในธรรมนั้น ด้วยความยินดีในธรรมนั้นแล

มรรคแม้นี้ ปฏิปทานี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุดอยู่...

ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะ บรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งย่อมไม่มีอยู่

เธอพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในอรูปฌานนั้น โดยความ
ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่มีตัวตน

เธอให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตเข้าหาธรรมธาตุอันเป็นอมตะว่านั่นมีอยู่ นั่นประณีต คือการสงบสังขารทั้งปวง การสละคืนอุปธิทั้งปวง ตัณหักขยะ วิราคะ นิโรธ นิพพาน ดังนี้

เธอตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนะนั้น ย่อมถึงการสิ้นอาสวะ ถ้าไม่ถึงการสิ้นอาสวะจะเป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เพราะความเพลิดเพลินในธรรม เพราะความยินดีในธรรมนั้นนั่นแล

มรรคปฏิปทานี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕


การตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์

(๓) ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้อย่างไร

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ผู้ใดเห็นพระอริยเจ้าฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้รับการแนะนำดีในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำดีในสัปปุริสธรรม

ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีรูป
ไม่เห็นรูปในตน
ไม่เห็นตนในรูป

ไม่พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ

ไม่พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ

ไม่พิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ

ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ฯลฯ เธอ

ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง

ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงว่า เป็นว่าทุกข์

ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงว่าเป็นอนัตตา

ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความเป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง

ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่าแม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา แม้สังขาร แม้วิญญาณ จักมี ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงเช่นนั้น เพราะเห็นความเป็นต่าง ๆ แห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.

เมื่อภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้แลว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เราดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้


(๔) เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้

(๕) ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู็ยิ่ง เพื่อความกำนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์อันเป็นสังโยชน์ส่วนเบื่องต่ำ ๕ อย่างนี้

 

 

อ้างอิง:
(๑) สังคีติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๒๘๔ หน้า ๑๙๖
(๒) มหามาลุงโกยวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๕๓-๑๕๙ หน้า ๑๒๓-๑๒๘
(๓) อุทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๐๙-๑๑๐
(๔) โอรัมภาคิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๗๑ หน้า ๓๗๒-๓๗๓
(๕) โอรัมภาคิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๓๔๙-๓๕๐ หน้า ๙๐
 
 
 

คำต่อไป