Main navigation
อรหันต์
Share:

(๑) อรหันต์คือ อริยบุคคล ผู้ปฏิบัติเพื่อละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา โดยไม่เหลือชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล บุคคลใดละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาได้โดยไม่เหลือ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอรหันต์

อรหันต์

 

(๒)  ด้วยเหตุเท่าไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว มีสัญโญชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึง ทั้งเกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมด ก็เป็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา จึงพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น

ด้วยเหตุเท่านี้แหละ ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว มีสัญโญชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ.

ภิกษุที่รู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้แหละ ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม ๓ ประการ คือ

ความเห็นอันยอดเยี่ยม ๑
ความปฏิบัติอันยอดเยี่ยม ๑
ความพ้นวิเศษอันยอดเยี่ยม ๑

(๓) เมื่อภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ในกาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาป ไม่ทำกรรมเป็นอเนญชา เพราะสำรอกอวิชชาเสีย เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น

ภิกษุนั้นถ้าเสวยเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา

ถ้าเสวยสุขเวทนา ทุกขวเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ก็วางใจเฉยเสวยไป

เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย ก็รู้ชัดว่าเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย

เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต

รู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น เมื่อตายไป สรีรธาตุเท่านั้นเหลืออยู่ในโลกนี้ 

(๔) พระอรหันต์อาจสงสัยในนามและโคตรของสตรีและบุรุษ อาจสงสัยในชื่อของหญ้า ไม้ และต้นไม้เจ้าป่าก็ได้

พระอรหันต์จะไม่สงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในส่วนอดีต ในส่วนอนาคต ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ในปฏิจจสมุปปาทธรรมที่ว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น ในโสดาปัตติผล หรือในสกทาคามิผล หรือในอนาคามิผล หรือในอรหัตผล

(๕) ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๖ ประการ คือ 

ถีนะ ๑
มิทธะ ๑ 
อุทธัจจะ ๑ 
กุกกุจจะ ๑ 
ความไม่มีศรัทธา ๑ 
ความประมาท ๑ 

ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๖ ประการ คือ 

ถีนะ ๑ 
มิทธะ ๑ 
อุทธัจจะ ๑
กุกกุจจะ ๑ 
ความไม่มีศรัทธา ๑ 
ความประมาท ๑

(๖) ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๖ ประการ คือ 

มานะ ความถือตัว ๑ 
โอมานะ ความสำคัญว่าเลวกว่าเขา ๑ 
อติมานะ ความเย่อหยิ่ง ๑
อธิมานะ ความเข้าใจผิด ๑ 
ถัมภะความหัวดื้อ ๑ 
อตินิปาตะ ความดูหมิ่นตนเองว่าเป็นคนเลว ๑

ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๖ ประการ คือ 

มานะ ความถือตัว ๑
โอมานะ ความสำคัญว่าเลวกว่าเขา ๑ 
อติมานะ ความเย่อหยิ่ง ๑
อธิมานะ ความเข้าใจผิด ๑
ถัมภะความหัวดื้อ ๑
อตินิปาตะ ความดูหมิ่น ตนเองว่าเป็นคนเลว ๑

(๗) ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตอันเป็นธรรมชั้นเลิศ คือ 

เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ 
เป็นผู้ไม่มีหิริ ๑ 
เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๑ 
เป็นผู้เกียจคร้าน ๑ 
เป็นผู้มีปัญญาทราม ๑ 
และเป็นผู้มีห่วงใยในร่างกายและชีวิต ๑ 

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อควรกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตอันเป็นธรรมชั้นเลิศ คือ 
 
เป็นผู้มีศรัทธา ๑ 
เป็นผู้มีหิริ ๑ 
เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๑ เป็นผู้ปรารภความเพียร ๑ 
เป็นผู้มีปัญญา ๑ 
และเป็นผู้ไม่มีความห่วงใยในร่างกายและชีวิต ๑


(๘) พระอรหันต์มีจักษุปรากฏ ย่อมเห็นรูปด้วยจักษุ มีหูปรากฏ ย่อมได้ยินเสียงด้วยหู มีจมูกปรากฏ ย่อมสูดดมกลิ่นด้วยจมูก มีลิ้นปรากฏ ย่อมลิ้มรสด้วยลิ้น มีกายปรากฏ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย มีใจปรากฏ ย่อมรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ แต่มิได้มีฉันทราคะ มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว

จักษุเป็นธรรมชาติชอบรูป ยินดีในรูป ชื่นชมในรูป พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมจักษุ และย่อมแสดงธรรมเพื่อความสำรวมจักษุนั้น

หูเป็นธรรมชาติชอบเสียง ยินดีในเสียง ชื่นชมในเสียง พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมหู และย่อมแสดงธรรมเพื่อความสำรวมหูนั้น

จมูกเป็นธรรมชาติชอบกลิ่น ยินดีในกลิ่น ชื่นชมในกลิ่น พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมจมูก และย่อมแสดงธรรมเพื่อความสำรวมจมูกนั้น

ลิ้นเป็นธรรมชาติชอบรส ยินดีในรส ชื่นชมในรส พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมลิ้น และย่อมแสดงธรรมเพื่อความสำรวมลิ้นนั้น

กายเป็นธรรมชาติชอบโผฏฐัพพะ ยินดีในโผฏฐัพพะ ชื่นชมในโผฏฐัพพะ พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมกาย และย่อมแสดงธรรมเพื่อความสำรวมกายนั้น

ใจเป็นธรรมชาติชอบธรรมารมณ์ ยินดีในธรรมารมณ์ ชื่นชมในธรรมารมณ์ พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมใจ และแสดงธรรมเพื่อความสำรวมใจนั้น

(๙)  เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง จึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น นี้เรียกว่า ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้วโดยลำดับ มีกิเลสเป็นเครื่องประกอบไว้ในภพสิ้นไปรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ

(๑๐) เราย่อมกล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตตผลด้วยการไปครั้งแรกเท่านั้น หามิได้ แต่การตั้งอยู่ในอรหัตตผลนั้น ย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับด้วยความปฏิบัติโดยลำดับ

กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เมื่อเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรม ย่อมทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนได้ซึ่งความพินิจ เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ ฉันทะย่อมเกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งบรมสัจจะด้วยกาย และย่อมแทงตลอดเห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วยปัญญา

ศรัทธาก็ดี การเข้าไปใกล้ก็ดี การนั่งใกล้ก็ดี การเงี่ยโสตลงก็ดี การฟังธรรมก็ดี การทรงธรรมไว้ก็ดี ความพิจารณาเนื้อความก็ดี ธรรมอันทนได้ซึ่งความพินิจก็ดี ฉันทะก็ดี อุตสาหะก็ดี การไตร่ตรองก็ดี การตั้งความเพียรก็ดี นั้น ๆ ไม่ได้มีแล้ว เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาด ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติผิด

(๑๑) ที่เรียกว่า อรหัต อรหัตเป็นไฉน

ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ ธรรมเป็นที่สิ้นโทสะ ธรรมเป็นที่สิ้นโมหะ นี้เรียกว่าอรหัต

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นมรรคา เป็นปฏิปทาเพื่อกระทำอรหัตนั้นให้แจ้ง

ผู้ใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ผู้นั้นเป็นธรรมวาทีในโลก

ผู้ใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ผู้นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีในโลก

ผู้ใดละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ไปดีแล้วในโลก

 
 


อ้างอิง:
(๑) เอกกนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวงเล่มที่ ๓๖ ข้อที่ ๕๗ หน้า ๑๑๓
(๒) จูฬสัจจกสูตร พระสุตไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒  ข้อที่ [๔๐๒] หน้า ๓๐๗
(๓) ปริวีมังสนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๖  ข้อ ๑๙๑-๑๙๒ หน้า ๘๑-๘๒
(๔) กังขากถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๗ ข้อที่ ๕๒๒-๕๔๖ หน้า ๒๔๔-๒๕๓
(๕) อรหัตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๓๗ หน้า ๓๗๔-๓๗๕
(๖) อรหัตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๔๗ หน้า ๓๘๒-๓๘๓
(๗) อัคคธรรมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๕๔ หน้า ๓๘๖
(๘) ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ ข้อที่ ๔๑๓ หน้า ๒๒๔-๒๒๕
(๙) อรหันตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๙๗ หน้า ๑๕๔
(๑๐) กีฎาคิริสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๓๘ หน้า ๑๘๑-๑๘๒
(๑๑) ชัมพุขาทกสังยุตต์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๙๘-๔๙๙
 
 

คำต่อไป