Main navigation
อุทธัจจะ
Share:

(๑)  อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ เป็นหนึ่งใน นิวรณ์ ๕

อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ เป็นไฉน?

อุทธัจจกุกกุจจะนั้น แยกเป็นอุทธัจจะอย่างหนึ่ง กุกกุจจะอย่างหนึ่ง

อุทธัจจะ เป็นไฉน?

ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความวุ่นวายใจ ความพล่านแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า อุทธัจจะ.

กุกกุจจะ เป็นไฉน?

ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ความสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ความสำคัญว่ามีโทษในของที่ไม่มีโทษ ความสำคัญว่าไม่มีโทษในของที่มีโทษ การรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ความรำคาญ ความเดือดร้อนใจ ความยุ่งใจ ซึ่งมีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า กุกกุจจะ.

อุทธัจจะและกุกกุจจะนี้ รวมเรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์

(๒)  ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ เพราะจิตฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า และไม่โรยฝุ่นลงไปในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นสามารถจะดับไฟกองใหญ่ไม่ได้          

ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะจิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่นลงในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นจะสามารถดับกองไฟกองใหญ่นั้นได้

สติ มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง

(๓)  เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ เหมือนความไม่สงบแห่งใจ

เมื่อบุคคลมีจิตไม่สงบแล้ว อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์

(๔)  เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะเป็นเหตุให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรืออุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ เหมือนความสงบแห่งใจ

เมื่อบุคคลมีจิตสงบแล้ว อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้

 

อ้างอิง
(๑)  นีวรณโคจฉกะ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๗๕๑ หน้า ๒๖๓
(๒)  อัคคิสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๗๑-๕๗๒ หน้า ๑๓๙-๑๔๐

คำต่อไป