Main navigation
อุปาทานขันธ์ ๕
Share:

(๑) ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานเป็นไฉน

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชื่อว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน

ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ชื่อว่า อุปาทาน

(๒)   เพราะถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา 

เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา

(๓)  การถึงความสงเคราะห์ การประชุมกันแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ มีได้ด้วยประการดังนี้

- รูปเป็นอย่างใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ รูป  
- เวทนาเป็นอย่างใด เวทนานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ เวทนา  
- สัญญาเป็นอย่างใด สัญญานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ สัญญา  
- สังขารเป็นอย่างใด สังขารนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทาน คือ สังขาร  
- วิญญาณแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ.  

อุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่าเป็น ปฏิจจสมุปปันนธรรม

(๔)  อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เป็นที่ที่ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอยู่ว่า

-  อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
-  อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา
-  อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา
-  อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร
-  อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ

เธอผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่ ย่อมละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมรู้ชัดว่า เราละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้แล้ว ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕

(๕)  ก็อะไรเป็นความเกิดแห่งรูป อะไรเป็นความเกิดแห่งเวทนา อะไรเป็นความเกิดแห่งสัญญา อะไรเป็นความเกิดแห่งสังขาร อะไรเป็นความเกิดแห่งวิญญาณ?

บุคคลในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความยินดีก็เกิดขึ้น

ความยินดีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั่นเป็นอุปาทาน

เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส. ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

ก็อะไรเป็นความดับแห่งรูป อะไรเป็นความดับแห่งเวทนา อะไรเป็นความดับแห่งสัญญา อะไรเป็นความดับแห่งสังขาร อะไรเป็นความดับแห่งวิญญาณ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความยินดีในรูป  เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณย่อมดับไป

เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

(๖)  อุปาทานขันธ์ มี ๕ ประการ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์  สัญญูปาทานขันธ์  สังขารูปาทานขันธ์  วิญญาณูปาทานขันธ์ 

อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ มีฉันทะเป็นมูล

อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น เป็นอย่างเดียวกันก็ไม่ใช่ จะเป็นคนละอย่างก็ไม่ใช่ แต่ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น เป็นตัวอุปาทานในอุปาทานขันธ์ ๕

ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ ในอนาคตกาลเถิด 

(๗)  ผู้รู้ยิ่งซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ โดยเวียนรอบ ๔ ตามความเป็นจริง จึงสามารถปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบยิ่งซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณ

การรู็ยิ่งซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ โดยเวียนรอบ ๔ คือ 

-  ความรู้ยิ่งในอุปาทานขันธ์ ๕ 
-  ความรู้ยิ่งในความเกิดแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ 
-  ความรู้ยิ่งในความดับแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ 
-  ความรู้ยิ่งในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งอุปทานขันธ์ ๕

ความรู้ยิ่งในรูป คือ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔
ความเกิดขึ้นแห่งรูป เพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร
ความดับแห่งรูป คือความดับแห่งอาหาร
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป
 
ความรู้ยิ่งในเวทนา มี ๖ หมวด คือ เวทนาเกิดแต่จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส
ความเกิดขึ้นแห่งเวทนามีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ
ความดับแห่งเวทนามีเพราะความดับแห่งผัสสะ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนา
 
ความรู้ยิ่งในสัญญา มี ๖ หมวด คือ ความสำคัญในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา มีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ
ความดับแห่งสัญญามีเพราะความดับแห่งผัสสะ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัญญา
 
ความรู้ยิ่งในสังขาร ได้แก่ เจตนา ๖ หมวดคือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธรรมสัญเจตนา
ความเกิดขึ้นแห่งสังขารมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ
ความดับแห่งสังขารมี เพราะความดับแห่งผัสสะ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสังขาร.
 
ความรู้ยิ่งในวิญญาณ มี ๖ หมวด คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ
ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป
ความดับแห่งวิญญาณมี เพราะความดับแห่งนามรูป
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
 
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด

ได้รู้ยิ่งใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ได้รู้ยิ่งซึ่งเหตุเกิดแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ได้รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ได้รู้ยิ่งซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ปฏิบัติแล้ว เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน  ความวนเวียนเพื่อความปรากฏ ย่อมไม่มีแก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น

(๗)  ภิกษุผู้มีศีล ภิกษุผู้เป็นโสดาบัน ภิกษุผู้เป็นพระสกทาคามี ภิกษุผู้เป็นอนาคามี ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ ควรกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ไว้ในใจโดยแยบคายโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นความคับแค้น เป็นอาพาธ เป็นของแปรปรวน เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของไม่ใช่ตัวตน.  

เมื่อภิกษุกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ ไว้ในใจโดยแยบคายดังนี้แล้ว ข้อเหล่านี้คือฐานะที่จะมีได้

-  ภิกษุผู้มีศีล พึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล
-  ภิกษุผู้เป็นโสดาบัน พึงทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล
-  ภิกษุผู้เป็นสกทาคามี พึงทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล
-  ภิกษุผู้เป็นอนาคามี พึงทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล
-  ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ ซึ่งไม่มีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป หรือการสั่งสมกิจที่กระทำแล้ว ธรรมเหล่านี้ที่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ก็เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ.


(ดู ขันธ์ ๕)
 

อ้างอิง:  
(๑)  อุปาทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๓๐๙ หน้า ๑๖๐
(๒)  อานันทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๙๓ หน้า ๑๐๓
(๓)  มหาหัตถิปโทปมสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒  ข้อที่ ๓๔๖ หน้า ๒๕๓
(๔)  มหาสุญญตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มท่ี ๑๔ ข้อที่ ๓๕๐ หน้า ๑๘๙-๑๙๐
(๕)  สมาธิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๗ ข้อที่ ๒๗-๒๙ หน้า ๑๓-๑๔
(๖)  มหาปุณณมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๑๒๑-๑๒๒ หน้า ๗๗-๗๘
(๗)  ปริวัฏฏสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๑๒-๑๑๗ หน้า ๕๗-๖๐
(๘)  สีลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๓๑๐-๓๑๔ หน้า ๑๖๐-๑๖๒
 
 

คำต่อไป