Main navigation
อากาศธาตุ
Share:

อากาศธาตุ เป็นไฉน

(๑) อากาศธาตุมี ๒ อย่าง คือ อากาศธาตุภายใน อากาศธาตุภายนอก

ในอากาศธาตุ ๒ อย่างนั้น อากาศธาตุภายใน เป็นไฉน

อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่าความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้องเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องสำหรับกลืนของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้ม  ช่องที่พักอยู่แห่งของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้ม และช่องสำหรับของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้มไหลออกเบื้องต่ำ หรือ อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่าความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่าอากาศธาตุภายใน

อากาสธาตุภายนอก เป็นไฉน

อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่าความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันมหาภูตรูป ๔ ไม่ถูกต้อง เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก นี้เรียกว่า อากาสธาตุภายนอก

อากาสธาตุภายใน อากาสธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่า อากาสธาตุ


สมถภาวนาเสมอด้วยอากาศ

เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

 

วิปัสสนาภาวนาอากาศธาตุ

อากาสธาตุภายในก็มีภายนอกก็มี

ก็อากาสธาตุภายใน คือ สิ่งที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปากซึ่งเป็นทางให้กลืนของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม เป็นที่ตั้งของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และเป็นทางระบายของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วออกทางเบื้องล่าง หรือแม้สิ่งอื่น ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อากาสธาตุ ภายใน

ก็อากาสธาตุทั้งภายในและภายนอกนี้ เป็นอากาสธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเราไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา

ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอากาสธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดอากาสธาตุได้

 

 

อ้างอิง:
(๑) ธาตุวิภังค์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๑๑๘
(๒)​ มหาราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๓ ข้อที่ ๑๔๔, ๖๘๘
 

 

คำต่อไป