Main navigation
อินทรีย์ ๖
Share:

(๑) อินทรีย์ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน?

คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ มนินทรีย์ ๑

(๒) การรู้อินทรีย์ ๖ ของพระโสดาบัน

เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๖ ประการนี้ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น เราเรียกอริยสาวกนี้ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า

(๓) การรู้อินทรีย์ ๖ ของพระอรหันต์

เมื่อใด ภิกษุรู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๖ ประการนี้ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุประโยชน์ของตนแล้ว สิ้นสังโยชน์ที่จะนำไปสู่ภพ หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ

(๔) การรู้อินทรีย์ ๖ ของพระพุทธเจ้า

เรายังไม่รู้ทั่วถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๖ ประการนี้ตามความเป็นจริง เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่า ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น

เมื่อใด เรารู้ทั่วถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๖ ประการนี้ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ก็แหละ ญาณทัสสนะได้บังเกิดขึ้นแก่เราว่าวิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติมีในที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกไม่มี

(๕)(๖) ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง

- ไม่รู้ชัดซึ่งความเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๖ ประการนี้ ตามความเป็นจริง
-  ไม่รู้ชัดซึ่งจักขุนทรีย์ ความเกิดแห่งจักขุนทรีย์ ความดับแห่งจักขุนทรีย์ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งจักขุนทรีย์ ไม่รู้ชัดซึ่งโสตินทรีย์ ... ฆานินทรีย์ ... ชิวหินทรีย์ ... กายินทรีย์ ... มนินทรีย์ ความเกิดแห่งมนินทรีย์ ความดับแห่งมนินทรีย์ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งมนินทรีย์

สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เราไม่นับว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ เพราะท่านเหล่านั้นไม่กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะหรือของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน

ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง

- รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๖ ประการนี้ ตามความเป็นจริง
- รู้ชัดซึ่งจักขุนทรีย์ ความเกิดแห่งจักขุนทรีย์ ความดับแห่งจักขุนทรีย์ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งจักขุนทรีย์ รู้ชัดซึ่งโสตินทรีย์ ... ฆานินทรีย์ ... ชิวหินทรีย์ ... กายินทรีย์ ... มนินทรีย์ ความเกิดแห่งมนินทรีย์ ความดับแห่งมนินทรีย์ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งมนินทรีย์

สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เรานับว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ เพราะท่านเหล่านั้นกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะและของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน

(๗)​ อินทรีย์ ๕ ประการเป็นไฉน?

คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑

อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน

ใจเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และใจย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้

(๘) ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเมื่อ 

- เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
- ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว
- ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว
- ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว
- ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว
- รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว

ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น

ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์

(๙) ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์

ผู้ประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะ เช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน

(๑๐) ก็การเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ เป็นอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้น

- เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ
- เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต
- เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ
- เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา
- เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย
- เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน

เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคือ อุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสียอุเบกขาจึงดำรงมั่น

ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที อุเบกขาย่อมดำรงมั่น

นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ

ก็พระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว เป็นอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ...เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต ... เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน

เธอถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งทั้งไม่ปฏิกูลและปฏิกูล ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้

ถ้าหวังว่าจะวางเฉยเว้นเสียซึ่งสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้งสองนั้น อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะ ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะได้

อย่างนี้แล ชื่อว่าพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว

(๑๑) อินทรีย์ ๕ คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑

- อินทรีย์ ๕  มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน

- อินทรีย์ ๕ มีใจเป็นที่อาศัย  มีใจรับรู้วิสัยอันเป็นโคจรแห่งอินทรีย์ ๕ นั้น.

- อินทรีย์ ๕ ประการนี้อาศัย อายุ (ชีวิต) ในการตั้งอยู่ 

 
อ้างอิง :
(๑) สุทธกสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๙๐๑ หน้า ๒๒๔
(๒) โสตาปันนสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๙๐๓ หน้า ๒๒๕
(๓) อรหันตสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๙๐๕ หน้า ๒๒๕
(๔) อรหันตสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๙๐๗-๙๐๘ หน้า ๒๒๖
(๕) สมณพราหมณสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๙๑๐-๙๑๑ หน้า ๒๒๖
(๖) สมณพราหมณสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๙๑๒-๙๑๓ หน้า ๒๒๗
(๗) อุณณาภพราหมณสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๙๖๗-๙๖๘ หน้า
(๘) เสขปฏิปทาสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๘ หน้า ๒๓-๒๔
(๙) สุภสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๒๑ หน้า
(๑๐) อินทริยภาวนาสูตร  พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๘๕๖-๘๖๔ หน้าที่ ๔๐๙-๘๑๒
(๑๑) มหาเวทัลลสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที ๕๐๐ หน้า
 

 

 

คำต่อไป