Main navigation
อาฆาต - ธรรมระงับความอาฆาต
Share:

(๑) อาฆาตวัตถุ ๙ คือ ความอาฆาตย่อมเกิดขึ้นด้วยคิดว่า

๑. ผู้นี้ได้กระทำความเสื่อมเสียแก่เราแล้ว

๒. ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียแก่เรา

๓. ผู้นี้จักกระทำความเสื่อมเสียแก่เรา

๔. ผู้นี้ได้กระทำความเสื่อมเสียแก่คนเป็นที่รักที่ชอบพอของเราแล้ว

๕. ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียแก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา

๖. ผู้นี้จักกระทำความเสื่อมเสียแก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเราแล้ว

๗. ผู้นี้ได้กระทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเราแล้ว

๘. ผู้นี้กำลังทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา

๙. ผู้นี้จักทำประโยชน์แก่คนผู้ ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา

เหล่านี้เรียกว่า อาฆาตวัตถุ ๙


ธรรมเพื่อระงับความอาฆาต

(๒) วิธีที่ ๑

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม เป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑

ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้


(๓)  วิธีที่ ๒ ไม่ใจส่วนไม่ที่ไม่ดี ใส่ใจแต่ส่วนที่ดีของบุคคลนั้น

ผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์

ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้น ส่วนความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้น

เหมือนอย่างว่า ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เห็นผ้าเก่าที่ถนน เหยียบให้มั่นด้วยเท้าซ้าย เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา ส่วนใดเป็นสาระ ก็เลือกถือเอาส่วนนั้นแล้วหลีกไป 

ผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์  แต่มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์

ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจในส่วนนั้น ส่วนความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจในส่วนนั้น

เหมือนอย่างว่า สระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้ บุรุษผู้เดินทาง ร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาลงสู่สระน้ำนั้น แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสองแล้ว กอบน้ำขึ้นดื่มแล้วพึงไป 

ผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร

ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้น แม้ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุก็ไม่พึงใส่ใจส่วนนั้น แต่การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควรส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้น

เหมือนอย่างว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโค บุรุษผู้เดินทาง ร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน ระหายน้ำ เขาพึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโคนี้ ถ้าเราจักกอบขึ้นดื่มหรือใช้ภาชนะตักขึ้นดื่มไซร้ เราก็จักทำน้ำนั้นให้ไหวบ้าง ให้ขุ่นบ้าง ให้ไม่เป็นที่ควรดื่มบ้าง ถ้ากระไรเรา พึงคุกเข่าก้มลงดื่มอย่างโคดื่มน้ำแล้วหลีกไปเถิด เขาคุกเข่าก้มลงดื่มน้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วไป 

ผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร

ภิกษุพึงตั้งความการุณ ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ในบุคคลเห็นปานนี้ว่า ท่านผู้นี้พึงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว อบรมกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต   เพราะเหตุว่า ท่านนี้เมื่อตายไปแล้ว อย่าเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก 

เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก เดินทางไกล แม้ข้างหน้าก็มีบ้านอยู่ไกล แม้ข้างหลังก็มีบ้านอยู่ไกล เขาไม่พึงได้อาหารที่สบาย (ถูกโรค) เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน บุรุษที่เห็นเขา พึงเข้าไปตั้งความการุณ ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ว่า คนๆ นี้พึงได้อาหารที่สบาย เภสัช ที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน คนๆ นี้อย่าถึงความพินาศฉิบหาย ณ ที่นี้เลย 

ผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ และได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร

แม้ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้น แม้ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใด ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้น แม้การได้ทางสงบใจส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้น

เหมือนอย่างว่า สระน้ำที่มีน้ำใส มีน้ำอร่อยดี มีน้ำเย็น มีน้ำขาว มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ดาระดาดไปด้วยต้นไม้พันธุ์ต่างๆ บุคคลผู้เดินทาง ร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาพึงลงสู่สระน้ำนั้น อาบบ้าง ดื่มบ้าง แล้วขึ้นมานั่งบ้าง นอนบ้างที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำนั้น 


(๓) วิธีที่ ๓ - พิจารณาสัจธรรม ปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้า

หากว่า ชนจะด่า จะตัดพ้อ กระทบกระเทียบ จะเบียดเบียน ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้

ทุกขเวทนานี้ อาศัยอะไรจึงมีได้

ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงมีได้ ภิกษุนั้น ย่อมเห็นว่าผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าสัญญาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าวิญญาณเป็นของไม่เที่ยง

จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเสื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อมหลุดพ้น

หากว่า ชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ คือ ด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหาร
ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง

ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ศาตราบ้าง อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่า พวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในพวกโจรนั้น ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้

อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็นธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว

คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ท่อนไม้ ฯลฯ ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ตามทีเถิด คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้เราจะทำให้จงได้ ดังนี้

หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมย่อมไม่ตั้งอยู่พร้อมได้ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจเพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้

หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว





อ้างอิง :  

(๑) วิภังคปกรณ์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๑๐๒๐ หน้า ๔๗๘
(๒) อาฆาตวินยสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๖๑ หน้า ๑๖๘
(๓) อาฆาตวินยสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๖๒ หน้า ๑๖๘-๑๗๑
(๔) มหาหัตถิปโทปมสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒  ข้อที่ ๓๔๒ หน้า ๒๔๖
 
 

คำต่อไป